รีวิวหนัง Dune มหากาพย์ไซไฟ ที่อยากรีเควสให้ออกเป็นหนังสือ!
รีวิวหนัง Dune มหากาพย์ไซไฟ ที่อยากรีเควสให้ออกเป็นหนังสือ! และเราก็ได้ฤกษ์เป็นประจักษ์ต่อสายตากับหนึ่งในโปรแกรมหนึ่งฟอร์มใหญ่ประจำปีนี้ที่มีหลายคนเฝ้ารอคอย กับมหากาพย์ไซไฟที่นับมาปัดฝุ่นสร้างใหม่อีกครั้งใน “Dune” ที่ดัดแปลงมาจากนิยายภาพดั้งเดิมของ “แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต” ที่เคยถูกสร้างเป็นหนังมาแล้วในปี 1984 ที่ออกจะเป็นแนวหนังคัลท์ไซไฟไปสักหน่อย แต่กลับมาคราวนี้ด้วยเทคโนโลยีภาพยนตร์ที่ทันสมัยขึ้น จึงทำให้งานสร้างต่างๆ ได้ถูกยกระดับได้ดีขึ้นอีกเป็นกอง และถือว่ายิ่งใหญ่สมราคาคุยอยู่
Dune เล่าเรื่อง พอล อะเทรดิส อัจฉริยะหนุ่มผู้มีพรสวรรค์ที่เกิดมาพร้อมโชคชะตาอันยิ่งใหญ่เกินกว่าจะเข้าใจ เขาต้องเดินทางไปยังดาวเคราะห์ที่อันตรายที่สุดในจักรวาลเพื่อความอยู่รอดและอนาคตของครอบครัวรวมถึงผู้คนของเขา หลังถูกรุกรานโดยกองกำลังวายร้ายหน้าเลือดที่หวังแย่งชิงทรัพยากรที่ล้ำค่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งสามารถใช้ดึงศักยภาพที่ซ่อนเร้นของมนุษยชาติออกมาได้ และมีเพียงผู้ที่สามารถเอาชนะความกลัวได้เท่านั้นที่จะอยู่รอดในศึกครั้งนี้
หนังเรื่องนี้เราอยากจะเริ่มต้นด้วยการให้คะแนนเต็ม 10 เอาไว้ก่อน โดยหลังจากนี้จะมาไล่เรียงและตัดคะแนนกันไปทีละส่วนๆ กันดูว่า Dune จะยังสมบูรณ์แบบเพียงพอกับการเป็นมหากาพย์หนังไซไฟเรื่องใหม่ให้กับ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ได้หรือไม่ เริ่มต้นจากงานสร้างที่ต้องพูดถึงเป็นลำดับแรก เพราะงานโปรดักชั่นดีไซน์ในเรื่องนี้คือยอดเยี่ยมจริงๆ หลายองค์ประกอบเห็นได้ถึงความใส่ใจในรายละเอียด แม้ว่าจะเต็มไปด้วยเทคนิคพิเศษปะปนอยู่เต็มไปหมดก็ตาม
การออกแบบดาวดวงต่างๆ ภูมิประเทศของดาวแต่ละดวง ค่อนข้างทำได้ดี ขณะที่องค์ประกอบฉากต่างๆ ในหนังกว่าร้อยละ 80 เปิดเผยถึงความยิ่งใหญ่อลังการได้สมศักดิ์ คนดูต้องรู้สึกว้าวกับหลายรายละเอียดที่ผู้สร้างใส่เข้ามาอย่างบรรจง การจัดแสงและใช้โทนสีในหนังทำได้ค่อนข้างดี เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านมุมกล้องและมุมภาพก็ทำได้น่าพอใจ สร้างบรรยากาศโดยรวมมัดใจผู้ชมได้อยู่ ถึงขนาดนี้ความแห้งแล้งของดาวอาร์ราคิส ยังทำให้รู้สึกกระหายน้ำและคอแห้งได้เลย
“เดอนี วีลเนิฟว์” ยังคงมอบประสบการณ์การดูหนังแบบใหม่ๆ ให้กับผู้ชมได้อยู่ ขณะที่มุมมองของ “เกร็ก เฟรเซอร์” ผู้กำกับภาพในหนังเรื่องนี้ ก็ถือว่าทำออกมาได้เข้าขั้นสมบูรณ์แบบ องค์ประกอบส่วนนี้แทบไม่มีอะไรให้ตัดคะแนนเลย ทุกฉากและทุกสถานที่ในหนังเรื่องนี้ ได้ทำการเซ็ตออกมาเป็นอย่างดี แม้ว่าอาจจะมองเป็นเหมือนโรงลิเกไซไฟย่อมๆ ได้อยู่บ้างก็ตาม แต่หลายๆ ส่วนทำได้ค่อนข้างน่าพอใจ
มาถึงฝั่งนักแสดงใน Dune ที่ขนมาเป็นกองทัพและก็เล่นใหญ่เล่นดีกันทุกคาแรกเตอร์จริงๆ ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ก็คือ “ทิโมธี ชาลาเมต์” ที่เรื่องนี้เขาเป็นตัวละครที่แบกรับหนังใหญ่ๆ ทั้งเรื่องเอาไว้ด้วยสารีระหนุ่มร่างบาง แต่กระนั้นเอาก็แบกมันเอาไว้ได้แบบตลอดรอดฝั่งอยู่ ทั้งอินเนอร์และพรสวรรค์ทางการแสดงของเขาถูกนำมาใช้ในหนังเรื่องนี้ ถือว่าเป็นนักแสดงหนุ่มรุ่นใหม่ที่ฝีมือจัดจ้านไม่ธรรมดาจริงๆ โดยเฉพาะกับซีนอารมณ์ที่ต้องเล่นกับตัวเอง ทำให้ผู้ชมขนลุกได้อยู่หมัด
นักแสดงสมทบคนอื่นก็ถือว่ามีบทบาทไม่น้อยหน้า เพราะหนังก็สร้างมิติที่น่าสนใจให้กับพวกเขาเอาไว้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น “รีเบ็กก้า ฟูเกอร์สัน” กับบทแม่ที่ค่อนข้างน่าสนใจอยู่ไม่น้อย หรือจะเป็น “ออสการ์ ไอแซก”, “จอช โบรลิน”, “เจสัน โมโมอา”, “สเตลแลน สการ์สการ์ด” หรือ “เซนดายา” ล้วนแต่เป็นคาแรกเตอร์ที่มีความเฉพาะตัวในแบบตัวเอง และบทได้ส่งเสริมความน่าค้นหาให้กับตัวละครของพวกเขา
แต่เพราะว่า Dune เป็นหนังที่องค์ประกอบของตัวละครที่ค่อนข้างเยอะ แม้ว่าหนังจะกินเวลาไปนานกว่า 2 ชั่วโมง แต่ก็อาจจะทำให้คนดูจดจำตัวละครรองอื่นๆ ยังไม่ค่อยจะได้ ส่วนหนึ่งก็คงจะเป็นเพราะว่าคำศัพท์และชื่อเรียกต่างๆ ในหนังเป็นศัพท์ภาษานิยายไซไฟล้วนๆ ไหนจะชื่อเรียกของวัตถุนั้น บัญญัติศัพท์ของวัฒนธรรมนี้ กลายเป็นคำแปลกประหลาดที่ทำให้ผู้ชมอาจจะยังเข้าไม่ถึงได้ เป็นจุดด้อยจุดหนึ่งในหนังที่ต้องเสียคะแนนไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้น เชื่อว่าใครที่ดูหนังจบออกมา ถ้ายังคงอินกับเรื่องราวอยู่ก็น่าจะต้องกลับมาศึกษาค้นคว้าอ่านเกี่ยวกับเรื่อง Dune เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเพิ่มเติมกันอีกยกใหญ่ เช่นเดียวกับความรู้สึกของผู้เขียน ที่อยากจะทำให้หนังออกสารานุกรมเกี่ยวกับท้องเรื่องนี้ บัญญัติความรู้และศัพท์ต่างๆ ออกมาให้ผู้ทั่วไปได้เข้าใจกันสักหน่อย เพราะบอกตรงๆ ว่าศัพท์แปลกๆ ที่เรียกกันเฉพาะในเรื่อง บางทีก็ยังตามไม่ทันเช่นกัน
มาถึงอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของ Dune ก็ถือบทหนัง ที่คงต้องยอมรับว่าความยาวกว่า 2 ชั่วโมงเศษของเรื่องนี้ แม้จะดูไม่ได้ยาวกับเรื่องราวมากมายที่ต้องถ่ายทอด แต่ก็ยังรู้สึกว่ายาวเกินไปและเยิ่นเย้อเกินจำเป็นไปสักหน่อยอยู่ดี เข้าใจว่าองค์ประกอบในหนังเรื่องนี้มีเยอะมากๆ แต่หนังที่เราได้ชมกันในวันนี้เป็นเป็นเพียงพาร์ทจุดเริ่มต้นเท่านั้น เท่ากับว่าเป็นการปูเรื่องที่ยาวนาน 2 ชั่วโมงกว่าๆ ที่มีทั้งจุดที่น่าเบื่อ ปะปนไปกับน่าตื่นเต้น
หากผู้ชมที่จะตีตั๋วเข้ามาชมความอลังการของสงครามฟาดฟันระหว่างดวงดาว คงต้องบอกเลยว่า…คุณน่าจะไม่สมหวัง เพราะนี่เป็นเหมือนอารัมภบทร่ายยาวที่เป็นการเกริ่นถึงปฐมบทต่างๆ ในมหากาพย์ศึกสงครามในครั้งนี้ ดังนั้นตอนเปิดเรื่องนั้น จึงได้ขึ้นชื่อเอาไว้ว่า Dune Part One เพราะของจริงจะรอไปอยู่ที่ Dune Part Two นั่นเอง เรื่องนี้จึงเป็นส่วนที่ทำหน้าที่สตาร์ทและปูพื้นเพต่างๆ ของเนื้อเรื่องและตัวละครหลักเท่านั้นเอง
แต่บทที่ค่อนข้างสวิงไม่มาระหว่างความน่าสนใจกับอาการง่วงนอน แม้ว่าจะมีการแสดงดีๆ ของนักแสดงที่ช่วยพยุงเอาไว้แล้ว แต่บางจุดบางมุมก็ยังไม่สามารถได้ใช้ผู้ชมได้ทั้งเรื่อง ดังนั้นท้องเรื่องของ Dune ในเรื่องนี้นั้นยังจัดได้เป็นปฐมบทที่ยืดยาวและเกือบจะไร้ความน่าสนใจไปแล้ว ยังที่ดีเสน่ห์ของหนังยังเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้มองถึงภาพโดยรวมว่า Dune ก็มีเนื้อหาที่น่าติดตามต่อไปอยู่เหมือนกัน
ขณะที่องค์ประกอบอื่นๆ ของ Dune ก็มีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไปอยู่บ้าง ไม่ว่าจะงานประพันธ์เพลงประกอบของตัวพ่อ “ฮันส์ ซิมเมอร์” ที่ดนตรีแนวเอพิคยิ่งใหญ่เหมาะกับตัวหนังเป็นอย่างดี แต่บางทีก็ใส่ซาวน์เข้ามาได้สะดุ้งและน่ารำคาญใจอยู่ในบางฉาก พลอยทำให้ดนตรีที่น่าจะช่วยบิวต์บรรยากาศความยิ่งใหญ่ กลายเป็นซาวน์โกลาหลที่น่าอึดอัดใจไปบ้างเล็กน้อย
สรุป Dune
เอาเป็นว่าบทสรุปหลังจากดู Dune ออกมาแล้วนั้น ก็ถือว่าหนังท็อปฟอร์มในการเป็นมหากาพย์ไซไฟอย่างเกรียงไกรได้อยู่ เพียงแต่รสชาติอาจจะยังไม่จัดจ้านและตรงตามที่ผู้ชมคาดหวังเอาไว้สักเท่าไหร่ แต่เมื่อเห็นว่านี่เป็นเพียงปฐมบทก็พอจะเข้าใจ และเอาใจช่วยให้หนังได้มีโอกาสได้สานต่อในอีกพาร์ต เพราะถ้าไม่มีต่อก็อาจจะรู้สึกโกรธอยู่ไม่น้อย เพราะเอาจริงๆ ภาคนี้ก็เหมือนแกงที่ราดน้ำมาให้เยอะไปหน่อย ชิ้นเนื้ออร่อยๆ ก็ยังมีทำให้ฟินได้อยู่ เพียงแต่ว่ามันยังน้อยไป สรุปก็คือ…อิ่มน้ำนั่นเอง
ติดตามเรื่องราวใหม่ๆได้ทุกวัน ที่ >>> รีวิว